วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กวนอู

กวนอู (อังกฤษ: Guan Yu;จีนตัวเต็ม: 關羽; จีนตัวย่อ: 关羽; พินอิน: Guān Yǔ; เวด-ไจลส์: Kuan Yu) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก เกิดเมื่อวันที่ 24 เดือน 6 จีนศักราชเอี่ยงฮี ปี พ.ศ. 703 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั้นฮวนเต้ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 เดือนที่ 7 จีนศักราชเคี่ยงเซ้ง ปี พ.ศ. 762 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ กวนอูเป็นบุคคลแรกที่อยู่ในสังกัดของห้าทหารเสือของจ๊กก๊ก[1] [2] มีชื่อรองว่า "หุนเตี๋ยง" (จีน: 云长) เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง ลักษณะตามคำบรรยายในวรรณกรรมสามก๊ก กวนอูเป็นผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ 9 ฟุตจีนหรือประมาณ 6 ศอก ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี คิ้วดั่งหนอนไหม หนวดเครางามถึงอก[3] มีง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ยาว 11 ศอก หนัก 82 ชั่ง เป็นอาวุธประจำกายเรียกว่า "ง้าวมังกรเขียว" หรือ "ง้าวมังกรจันทร์ฉงาย" เชี่ยวชาญและเก่งกาจวิทยายุทธ จงรักภักดี กตัญญูรู้คุณ มีคุณธรรมและซื่อสัตย์เป็นเลิศ

ในวัยหนุ่มฉกรรจ์กวนอูได้พลั้งมือฆ่าปลัดอำเภอและน้าชายตายจนต้องหลบหนีการจับกุม[4] และพบกับเล่าปี่และเตียวหุยจนร่วมสาบานตนเป็นพี่น้องกันในสวนท้อ ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ครองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมและจิวฉอง ภายหลังถูกแผนกลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลของลกซุนและลิบองจนเสียเมืองเกงจิ๋ว กวนอูคับแค้นใจที่พลาดท่าเสียทีลกซุนและลิบองจึงนำทัพไปตีเกงจิ๋วเพื่อแย่งชิงคืน แต่ถูกจูเหียนและพัวเจี้ยงจับได้พร้อมกวนเป๋งที่เขาเจาสันและถูกประหารในปี พ.ศ. 762 รวมอายุได้ 59 ปี

ประวัติ

กวนอูเดิมเป็นชาวอำเภอไก่เหลียงมีชื่อเต็มว่า(อำเภอฮอตั๋งไกเหลียง) ดินแดนฮอตั๋ง ชื่อเดิมคือเผิงเสียน ชื่อรองโซ่วฉาง[4] รูปร่างสูงใหญ่ สง่างามน่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น มีกำเนิดในครอบครัวนักปราชญ์ เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์พิชัยสงครามและคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิว[5] เป็นนักโทษต้องคดีอาญาแผ่นดิน หลบหนีการจับกุมเร่รอนไปทั่วเป็นเวลา 6 ปี[6]จนถึงด่านถงกวน นายด่านพบพิรุธจึงสอบถามชื่อแซ่ กวนอูตกใจจึงชี้ไปที่ชื่อด่านคือ "ถงกวน" ทำให้นายด่านเข้าใจว่ากวนอูนั้นแซ่กวน หลังจากนั้นเป็นต้นมากวนอูจึงเปลี่ยนจากชื่อเดิมคือเผิงเสียนเป็นกวนอู[4]

ต่อมาได้พบเล่าปี่และเตียวหุยที่ตุ้นก้วนและร่วมสาบานเป็นพี่น้องกัน กวนอูได้ร่วมรบกับเล่าปี่ปราบโจรโพกผ้าเหลืองจนราบคาบในสมัยพระเจ้าเลนเต้ แต่เล่าปี่กลับได้เพียงตำแหน่งนายอำเภออันห้อก้วน ภายหลังต๊กอิ้วซึ่งเป็นเจ้าเมืองออกตรวจราชการที่อำเภออันห้อก้วน เล่าปี่ไม่มีสินบนมอบให้จึงถูกใส่ความด้วยการเขียนฎีกาถวายพระเจ้าเลนเต้ในข้อหากบฏ เตียวหุยโกรธจัดถึงกับพลั้งมือเฆี่ยนตีต๊กอิ้วจนเกือบเสียชีวิต ทำให้เล่าปี่ต้องหลบหนีจากการจับกุมของทางการพร้อมกับกวนอูและเตียวหุย

วีรกรรมของกวนอูนั้นมีมากมาย เริ่มจากการร่วมปราบปรามโจรโพกผ้าเหลืองร่วมกับทหารหลวงของพระเจ้าเลนเต้ สังหารฮัวหยงแม่ทัพของตั๋งโต๊ะโดยที่สุราคาราวะจากโจโฉยังอุ่น ๆ ปราบงันเหลียงและบุนทิวสองทหารเอกของอ้วนเสี้ยว บุกเดี่ยวพันลี้หนีจากโจโฉเพื่อหวนกลับคืนสู่เล่าปี่ด้วยคำสัตย์สาบานในสวนท้อ ทั้งที่โจโฉพยายามทุกวิถีทางเพื่อมัดใจกวนอูแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ฝ่า 5 ด่าน สังหาร 6 ขุนพลของโจโฉ และในคราวศึกเซ็กเพ็กโจโฉแตกทัพหนีไปตามเส้นทางฮัวหยง กวนอูได้รับมอบหมายจากขงเบ้งให้นำกำลังทหารมาดักรอจับกุม โจโฉว่ากล่าวตักเตือนให้กวนอูระลึกถึงบุญคุณครั้งก่อนจนกวนอูใจอ่อนยอมปล่อยโจโฉหลุดรอดไป โดยยอมรับโทษประหารตามที่ได้ทำทัณฑ์บนไว้กับขงเบ้ง

เมื่อเล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิครองเสฉวน ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วและแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ภายหลังซุนกวนมอบหมายให้โลซกเจรจาขอเกงจิ๋วคืน กวนอูบุกเดี่ยวข้ามฟากไปกังตั๋งเพื่อกินโต๊ะตามคำเชิญโดยที่โลซกและทหารที่แอบซุ่มรอบ ๆ บริเวณไม่สามารถทำอันตรายได้ ภายหลังซุนกวนเป็นพันธมิตรกับโจโฉนำทัพโจมตีเกงจิ๋ว กวนอูพลาดท่าเสียทีแก่ลิบองและลกซุนสองแม่ทัพแห่งกังตั๋งจนเสียเกงจิ๋ว พยายามตีฝ่ากำลังทหารที่ล้อมเมืองเป๊กเสียเพื่อชิงเกงจิ๋วกลับคืนแต่โดนกลอุบายจับตัวไปได้ ซุนกวนพยายามเกลี้ยกล่อมให้กวนอูยอมจำนนและสวามิภักดิ์แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกประหารพร้อมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมในเดือนสิบสองของปี พ.ศ. 762

ศีรษะของกวนอูถูกซุนกวนส่งไปมอบให้แก่โจโฉที่ฮูโต๋ ซึ่งเป็นกลอุบายที่หมายจะหลอกให้เล่าปี่หลงเชื่อว่าโจโฉเป็นผู้สั่งประหารกวนอู และนำกำลังทหารไปทำศึกสงครามกับโจโฉแทน แต่โจโฉเท่าทันกลอุบายของซุนกวนจึงจัดงานศพให้แก่กวนอูอย่างสมเกียรติ นำไม้หอมมาต่อเป็นหีบใส่ศีรษะกวนอู แต่งเครื่องเซ่นไหว้ตามบรรดาศักดิ์ขุนนางผู้ใหญ่รวมทั้งสั่งการให้ทหารทั้งหมดแต่งกายขาวไว้ทุกข์ให้แก่กวนอู ยกย่องให้เป็นอ๋องแห่งเกงจิ๋วและจารึกอักษรที่หลุมฝังศพว่า "ที่ฝังศพเจ้าเมืองเกงจิ๋ว"[7] ศีรษะของกวนอูถูกฝังไว้ ณ ประตูเมืองลกเอี๋ยงหรือลัวหยางทางด้านทิศใต้